หวัดดีจ้ะ เจ้าหญิงน้อย
ดีใจมากนะจ๊ะที่ได้รับจดหมาย อ่านเพลินมากเลย อย่างที่บอก ชอบอารมณ์ของจดหมายเจ้าหญิงมากๆนะจ๊ะ เราเองก็เชื่อเรื่องโหราศาสตร์และเรื่องโชคชะตามากทีเดียว ประสบการณ์หรือการรับรู้ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกจริงๆว่า ชีวิตเราถูกกำหนดไว้แล้วโดยมือยิ่งใหญ่ที่เรามองไม่เห็น บางทีการเชื่ออย่างนั้น มันอาจทำให้ชีวิตคลายความร้อนรุ่มกระวนกระวายไปได้มากด้วย และอ้าแขนรับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตด้วยความยินดีว่า..มันเข้ามาหาเราเพราะมันเป็นของเรา เบื้องบนส่งมาให้เรา..เพราะเราต้องเจออย่างนี้น่ะจ้ะ
ที่นี่อากาศหนาวมากจ้ะ 10 กว่าองศาได้ แต่รู้สึกสดชื่นเพราะเหมือนอากาศมันบริสุทธิ์ ไม่เหมือนหนาวแอร์ที่ทำงานในกทม.นะจ๊ะ เสียอย่างเดียว รับสัญญาณโทรศัพท์ดีแทคไม่ได้ สามวันนี้ต้องทนอยู่โดยไม่ได้ส่งและรับข้อความถึง/จากเจ้าหญิง แต่โชคยังดีที่มีไวร์เลสน่ะจ้ะ เลยสามารถส่งอีเมล์หาได้ ดูสิไปมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ มาสิ้นลายไร้สัญญาณมือถือก็ที่ปากช่องนี่เอง
จำได้ว่าวันก่อนคุยกัน ที่เราบอกว่าคลับคล้ายคลับคลาว่าปีนี้ ดอริส เลสซิง จะได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม วันนี้นึกสงสัย (และว่างๆ อู้งาน) เลยไปค้นดู ปรากฏว่าได้จริงๆด้วยจ้ะ เราอ่านเจอบทความของนิวยอร์คไทม์สน่ะจ้ะ เขียนถึงเรื่องนี้ (นิวยอร์คไทม์สเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีเซ็คชั่นวรรณกรรมที่ดีมากๆ แน่นปึ้กที่สุดเลยพอๆกับ The Guardian ของฟากอังกฤษ) บทความนี้เขียนได้น่ารักมาก ทำให้เรารู้จักดอริส เลสซิงได้เยอะทีเดียวภายในเนื้อหาเรื่องจำนวนไม่กี่หน้า แล้วก็อ่านสบายๆนะจ๊ะ เคยสงสัยเสมอ ว่าทำไมนักเขียนบทความวรรณกรรมของไทยไม่ค่อยเขียนบทความได้น่ารักแบบนี้ อืมม์ ถ้ามีก็คงจะเป็นคุณเฟย์ แล้วก็ปราย พันแสง ประมาณนั้นมั้งจ๊ะ
ที่เห็นปุ๊บแล้วชอบมากก็คือรูปน่ะจ้ะ เราแนบไฟล์มาให้ดูด้วยนะ เป็นรูปคุณยายดอริสวันที่ประกาศผลรางวัลแล้วนักข่าวไปมะรุมมะตุ้มสัมภาษณ์แกที่บ้าน แกก็ออกมานั่งหน้าระเบียง กุมขมับให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วยอาการงงๆ ดูน่ารักปนขำทีเดียวจ้ะ แล้วช่างภาพก็ถ่ายออกมาได้อารมณ์ดีนะ ว่ามั้ย
ณ วันที่รางวัลประกาศผลนั้น เข้าใจว่าคุณยายทราบข่าวรางวัลที่ได้จากพวกสื่อมวลชนที่ไปรุมสัมภาษณ์นั่นเอง ตอนั้นเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลน่ะจ้ะ แกบอกว่า "รู้สึกแปลกใจนิดๆ เพราะจริงๆลืมเรื่องนี้ไปแล้ว" ความที่ชื่อของดอริส เลสซิงอยู่ในฐานะผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายรางวัลนี้มานานมากจ้ะ ว่ากันว่าลุ้นๆกันมาร่วม 40 ปีแล้วทีเดียว แกคิดอีกนิดหนึ่งแล้วก็บอกว่า จริงๆมันก็ไม่น่าแปลกใจหรอก เพราะ "พวกเขาก็คงต้องให้ฉันสักวันก่อนที่ฉันจะตายไป หรือไม่ก็อดให้เลย"
ดอริส เลสซิงปีนี้อายุ 88 ปีแล้วจ้ะ ถือเป็นนักเขียนหญิงคนที่ 11 และมีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของรางวัลโนเบล มีเชื้อสายเปอร์เซีย (ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) จากนั้นครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ซิมบับเว แกออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 แล้วก็แต่งงานตอนอายุ 19 ปี แต่งงานได้สองสามปีก็รู้สึกว่าชีวิตแต่งงานเหมือนถูกขังคุกก็เลยทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังน่ะจ้ะ จากนั้นก็ไปพบรักใหม่แล้วก็ได้รับอิทธิพลด้านการเมืองจากสามีใหม่ แล้วจากนั้นก็หย่าอีกจ้ะ ก่อนที่จะหอบลูกกลับมาอังกฤษแล้วทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัว ตามบทความบอกว่าคุณยายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและต่อสู้ทางการเมืองพอสมควร เรียนไม่จบชั้นมัธยมด้วยนะจ๊ะ แต่ว่าอาศัยเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสืออย่างมหาศาล หนังสือที่เขียนก็เป็นเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร งานที่ไม่ใช่นวนิยายและประวัติชีวิตของตนเอง รวมๆแล้วก็หลายสิบเล่ม
ในบทความบอกว่า แม้คุณยายจะเป็นนักเขียนแนวสิทธิสตรีและเป็นคนที่มีจิตใจฝักใฝ่ด้านการเมืองมาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดสร้างความขัดแย้งรุนแรง แบบนักเขียนรางวัลโนเบล 2 ท่านก่อน (คือ Orhan Pamuk แห่งตุรกี และ Harold Pinter แห่งเกาะอังกฤษ) ซึ่งมีความคิดเห็นรุนแรงมากต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จนทำให้นักวิจารณ์สงสัยกันว่า ที่ได้รางวัลโนเบลนั้นเป็นเพราะจุดยืนทางการเมืองมากกว่าเหตุผลด้านคุณค่าทางวรรณกรรม
ในบทความบอกว่า งานที่เด่นที่สุดของดอริส เลสซิงคือหนังสือนวนิยายชื่อเรื่อง "The Golden Notebook" ซึ่งว่ากันว่าเป็นงานแนวเฟมินิสต์ยุคเริ่มแรกเลยทีเดียวจ้ะ หนังสือเล่มนี้ก็ตีพิมพ์ก่อนที่เราจะเกิดถึง 7 ปี ซึ่งนั่นมันก็สี่สิบกว่าปีมาแล้ว เป็นนิยายที่พูดถึงการตั้งคำถามของผู้หญิงต่อชีวิตครอบครัว หรือการอุทิศชีวิตทั้งหมดให้กับสามีและลูกๆ โดยละเลยชีวิตส่วนตัวและความต้องการของตัวเอง แต่นิยายเรื่องแรกจริงๆ คือเรื่อง The Grass Is Singing ซึ่งพูดถึงความสัมพันธ์ของแม่บ้านที่มีสามีเป็นชาวนากับคนรับใช้ผิวดำจ้ะ (ฟังดูคลาสสิคดีไหม)
เราจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของคุณยาย รู้สึกจะชื่อ To Room 19 น่ะจ้ะ เป็นเรื่องของผู้หญิงชนชั้นกลางคนหนึ่งที่แต่งงานกับสามีที่ดี มีลูกสี่คน แต่ก่อนผู้หญิงคนนี้ทำงานแต่พอมีลูกก็อุทิศชีวิตทั้งหมดมาเป็นแม่บ้าน เรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อลูกคนเล็กเข้าโรงเรียนเรียบร้อย ผู้หญิงคนนี้ก็เริ่มมาตั้งคำถามกับชีวิต แล้วความไม่พึงพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ก็ออกมาโดยการหมดความสนใจในชีวิตประจำวัน แล้วสามีก็ไปมีผู้หญิงอื่น ต่อมาผู้หญิงคนนี้ก็เลยต้องไปเช่าห้องที่โรงแรมห้องหนึ่ง เป็นห้องหมายเลข 19 เพื่อที่ทุกๆบ่ายจะได้ไปใช้เวลาอยู่เงียบๆคนเดียวที่นั่น นั่งครุ่นคิดถึงชีวิต เพื่อจะได้ไม่ต้องแวดล้อมไปด้วยเสียงจากชีวิตครอบครัว แล้วคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจเธอนะจ๊ะ เจ้าของโรงแรมฯลฯ ก็ตั้งคำถามมากมาย แล้วก็กดดัน คิดว่าแปลก เป็นบ้า เพี้ยน ฯลฯ น่ะจ้ะ ในที่สุดสามีรู้ว่าแอบไปโรงแรม ก็เลยกล่าวหาว่ามีชู้ (เพราะผู้ชายน่ะจ้ะ ไม่เข้าใจอารมณ์ผู้หญิง แต่เหตุผลเดียวที่ไปที่โรงแรมก็เพราะการนี้) ผู้หญิงคนนี้ก็แกล้งบอกว่าใช่ มีชู้ แล้วก็ไปที่ห้องเบอร์ 19 แล้วก็ฆ่าตัวตาย
นึกถึงตอนนี้แล้วก็ งานพวกนี้เป็นงานประวัติศาสตร์น่ะจ้ะ อ่านเพื่อเข้าใจสภาพสังคมและความกดดันของผู้หญิงสมัยโน้น ถ้าอ่านตอนนี้แล้วคงไม่ได้อารมณ์มาก เพราะโลกของผู้หญิงก็เปลี่ยนไป แล้วคงไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ถูกกดดันมากขนาดนั้น ณ ตอนนี้ แต่เราก็ชอบงานเขียนของนักเขียนหญิงยุคนี้เหมือนกันนะจ๊ะ ส่วนใหญ่ก็จะเขียนเรื่องสิ่งที่กดทับผู้หญิงอยู่แบบนี้คล้ายๆกันหมด อย่างวลีของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่บอกว่า "ผู้หญิงต้องมีห้องส่วนตัวและมีรายได้เป็นของตนเอง" ที่เขาพูดไว้นานมาก แต่มันจริงแสนจริงจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันเป็นภาพที่เป็นรูปธรรมของการที่ผู้หญิงเราจะยืนอยู่และมีที่ทางของตัวเองทั้งในแง่เศรษฐกิจและอารมณ์ แล้วก็เป็นหลักยึดประจำใจของเรามาจนทุกวันนี้น่ะจ้ะ
ในวันที่บทความเขียนถึง พูดถึงบรรยากาศที่บ้านของนักเขียนด้วยนะจ๊ะ ว่าเริ่มมีดอกไม้ทยอยมาส่ง พร้อมกับเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นอย่างไม่ขาดสาย เมื่อข่าวว่าคุณยายได้รางวัลโนเบลเริ่มเป็นที่รู้กันไป บทความปิดท้ายไว้อย่างน่ารักเชียวว่า โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง เป็นสายจากเพื่อนอีกคนหนึ่งที่คุณยายมีนัดไปทานข้าวที่ร้านอาหารจีนในเย็นนี้ คุณยายต้องขอโทษเพื่อนไปว่าวันนี้คงไปทานอาหารด้วยไม่ได้แล้ว เพราะเพิ่งได้รับรางวัลโนเบล แล้วบทความก็จบลงตรงนี้
เล่ามาตั้งยาวนี่..ก็อยากจะบอกว่าคิดถึงมากเหมือนเดิมน่ะจ้ะ ถ้าคิดถึงแล้ว..อารมณ์แบบนี้ก็อาจจะเขียนพร่ำเพ้อหาด้วยถ้อยคำซ้ำๆไปมา จนมีแต่คำเดิมซ้ำๆวนไปเวียนมาเต็มสองสามหน้ากระดาษ ทำอย่างนั้นก็คงไม่เกิดคุณูปการใดๆเลย และอาจทำให้ถ้อยคำมันลดทอนความหมายของมันลงกว่าที่ควรจะเป็น (หรือเปล่าน้า) ก็เลยต้องแปรพลังงานแห่งความถวิลหาทุกเช้าค่ำนั้นให้เล่าเรื่องสัพเพเหระให้เจ้าหญิงฟังแบบนี้น่ะจ้ะ
ราตรีสวัสดิ์เจ้าหญิงจ้ะ
วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น